ภาวะเงินฝืด หรือชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Deflation คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ ขอย้ำนะคะว่าราคาโดยทั่วไปไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ในสินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
การเกิดภาวะเงินฝืดมาจากหลายประการด้วยกัน เราตามมาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง? ตามจริงแล้วภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นมีสาเหตุหลักๆด้วยกัน 2 ด้าน ได้แก่ เงินฝืดจากด้านอุปทาน นั่นคือการเพิ่มขึ้นของผลผลิต (productivity) อันเนื่องมาจาก แรงงานมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น หรือ เทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการผลิตมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้าปรับตัวลง ทำให้ราคาสินค้าทั่วไปลดลง ตัวอย่างเช่น การเปิดประเทศของจีน ซึ่งทำให้มีแรงงานชาวจีนที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าประเทศอื่นๆ แรงงานจีนเข้ามาผลิตสินค้าในตลาดเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างของสินค้าที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวันจำพวก เสื้อผ้า กระเป๋า รวมทั้งสินค้าอื่นๆ อีกมากมายที่แม้เราจะซื้อมาจากประเทศในยุโรป แต่เมื่อพลิกป้ายดูจะพบว่า “Made in China” แทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปของสินค้าเกือบทุกประเทศทั่วโลกจึงถูกลง
เรามาดูอีกหนึ่งสาเหตุกันต่อเลยค่ะ นั่นก็คือภาวะเงินฝืดจากด้านอุปสงค์ นับว่าเงินฝืดด้านนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว โดยอาการของภาวะเงินฝืดเกิดจากความต้องการบริโภคของผู้คนที่ลดลง อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน ขาดรายได้ที่จะใช้จับจ่ายใช้สอย คนขายสินค้า(ผู้ขาย) จึงจำเป็นต้องลดราคาสินค้าลงเพื่อให้สามารถขายได้ เมื่อราคาสินค้าและบริการลดลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ผู้คนชะลอการบริโภคและการลงทุนออกไป โดยหวังว่า ราคาสินค้าและบริการจะถูกลงไปอีก เมื่อคนคิดเหมือน ๆ กันคือรอให้ราคาสินค้าถูกลง โดยคิดว่า “ถ้าซื้อพรุ่งนี้ ราคาน่าจะถูกกว่าซื้อวันนี้” ในที่สุดจะส่งผลทำให้สินค้าของผู้ผลิตขายไม่ออก ก็เริ่มมีสินค้าเหลือในสต็อก ผู้ผลิตเริ่มขาดทุน และเริ่มปลดคนงานออก คนก็เริ่มตกงาน เมื่อตกงานก็ไม่มีกำลังซื้อไปซื้อสินค้า ก็ทำให้ผู้ผลิตขาดทุนขายของไม่ออกไปอีก และในที่สุดก็ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยติดต่อกันไปอีกหลายปี ซึ่งนับว่าเป็นผลกระทบที่ร้ายแรงและทำให้ประสบปัญหาอื่นๆตามกันมาเป็นลูกโซ่
คำถามต่อมาก็คือเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน(ในช่วงไตรมาสที่ 4/2557)กำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่? คนไทยส่วนมากเริ่มเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจประเทศเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่? หากสังเกตจากราคาสินค้าและบริการที่มีอยู่ในท้องตลาด ณ ปัจจุบัน ที่สินค้าและบริการทั่วไปปรับตัวลดลงแต่ไม่มากนัก เพราะสาเหตุที่ราคาสินค้าและบริการทั่วไปมีการปรับตัวลดลงเป็นจากผลของการแข่งขันทางธุรกิจ มีการลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆในด้านต้นทุนแรงงานดังที่กล่าวข้างต้นมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคในประเทศไทยยังคงมีความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถสรุปออกมาคร่าวๆได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่สถานการณ์ภาวะเงินฝืดประเภทที่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจมากนัก เพียงแต่มีแนวโน้มเท่านั้น
ไม่เพียงแค่สถานการณ์คล้ายๆกันเช่นนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับเศรษฐกิจไทย แต่ได้เกิดขึ้นยังต่างประเทศด้วย โดยนักเศรษฐศาสตร์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจจะตกอยู่ในภาวะเงินฝืดได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่เริ่มคาดการณ์ว่าราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ จะถูกลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ย่อมส่งผลเสียต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจ และอาจนำไปสู่ภาวะเงินฝืดประเภทที่น่ากลัวได้จริง ๆ และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำได้จริง ๆ
หากเกิดเหตุการณ์เงินผืดขึ้นจริงๆ รัฐบาลจะมีวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดได้ โดยอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น จากการใช้นโยบายการเงิน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยและการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ หรือการใช้นโยบายการคลัง เช่น การลดภาษี การเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างงานและกระตุ้นการลงทุน ซึ่งปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังก็ได้ดำเนินการแทรกแซงและเฝ้าระวังเกี่ยวกับปัญหาเงินฝืด โดยผ่านการใช้นโยบายเศรษฐกิจเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดในประเทศไทยอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นกับเศรษฐกิจในประเทศเรา ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายการรับมือปัญหาเศรษฐกิจได้ดีมากแค่ไหน แต่ตัวเราเองก็ควรมีการวางแผนการเงินที่ดีทั้งในด้านการอดออม การใช้จ่ายและการลงทุนอย่างมีสติ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือในทุกๆสถานการณ์อยู่เสมอและสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเองในอนาคตได้
ทีมงาน
น.ส.ณัฏฐภัสสร ศักดิ์ศรีสุวรรณ