สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

Credit Default Swap

Credit Default Swap

Credit Default Swap (CDS) เครื่องมือทางการเงินสำหรับผู้ซื้อตราสารหนี้

                Credit Default Swap (CDS) เป็นตราสารอนุพันธ์(Derivatives)  ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญารับประกันความเสี่ยงจากผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้(Debt Issuer) ในกรณีที่ตราสารหนี้นั้นๆเป็นหนี้เสียและผู้ออกตราสารหนี้เบี้ยวไม่ชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่ผู้ซื้อตราสารหนี้  ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญในระบบตลาดตราสารหนี้ทั้งในช่วงเศรษฐกิจดีและเศรษฐกิจไม่ดี  ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการซื้อขาย Credit Default Swap (CDS)  มี 3 ส่วนดังนี้

1.ผู้ซื้อสัญญา CDS (Protection Buyer) หรือผู้ซื้อตราสารหนี้

เป็นผู้ที่ทำการซื้อตราสารหนี้และกลัวความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้  (พูดง่ายๆคือกลัวผู้ออกตราสารหนี้เบี้ยวหนี้) จึงทำการเข้าซื้อ CDS กับผู้ขายสัญญา CDS (Protection Seller) โดยผู้ซื้อสัญญา CDS (Protection Buyer) จะต้องจ่ายเงินค่าซื้อสัญญา Credit Default Swap (CDS) หรือค่า Premium leg ให้แก่ผู้ขายสัญญา CDS

2. ผู้ขายสัญญา CDS (Protection Seller)

เป็นผู้ที่รับประกันความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ให้กับผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ โดยจะทำสัญญา CDS รับประกันผลตอบแทนให้แก่ผู้ซื้อสัญญา CDS (Protection Seller) โดยที่ผู้ขายจะได้รับค่า Premium leg จากผู้ซื้อสัญญา CDS (Protection Seller)  ขณะเดียวกันหากผู้ออกตราสารหนี้(Issuer) ผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา ผู้ขายสัญญา CDS (Protection Seller) จะต้องรับหน้าที่ชำระในส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากสัญญา CDS ดังกล่าว

3. ผู้ออกตราสารหนี้หรือผู้ขายตราสารหนี้(Issuer)

เป็นผู้ออกขายตราสารหนี้ให้แก่ผู้ซื้อตราสารหนี้ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ขายสัญญา CDS (Protection Seller)  โดยมีหน้าที่หลักคือจ่ายดอกเบี้ย และชำระเงินต้น(ครบกำหนด) ให้แก่ผู้ซื้อตราสารหนี้ เป็นปกติ

สรุปได้ว่าผู้ซื้อสัญญา CDS (Protection Buyer) จะต้องทำการจ่ายค่าธรรมเนียม(Premium leg) ให้แก่ผู้ขายสัญญา CDS (Protection Seller) ตลอดอายุสัญญา ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนน้อยลง  สำหรับผู้ขายสัญญา CDS(Protection Seller) ในกรณีปกติและไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ ผู้ขายสัญญา CDS (Protection Seller) จะได้รับค่าธรรมเนียมจากผู้ซื้อ  แต่หากกรณีผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ขายสัญญา CDS (Protection Seller) มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบตามสัญญา CDS ทันที

ตัวอย่างเช่น นายA(ผู้ซื้อ CDS) ซื้อตราสารหนี้ราคา 1,000 บาท จากนาย B (ผู้ออกตราสาร) และได้ดอกเบี้ยที่ 10% หรือ 100 บาท ต่องวด และได้ทำสัญญาซื้อ CDS กับนาย C (ผู้ขาย CDS) ที่ค่าธรรมเนียม 2% ของมูลค่าตราสารหนี้ หรือ 20 บาทต่องวด  ดังนั้นผลตอบแทนของนาย A จะได้เท่ากับ 100 -20 = 80 บาท หรือประมาณ 8% ต่องวด

การเก็งกำไรของ Credit Default Swap (CDS) กับวิกฤติทางเศรษฐกิจ

                เนื่องจากสัญญา Credit Default Swap (CDS) เป็นสัญญาที่อ้างอิงกับการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ จึงทำให้ราคาซื้อขายของ Credit Default Swap (CDS) มีราคาสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับอันดับความน่าเชื่อถือ(Credit Rating) ของตราสารหนี้นั้นๆ จึงทำให้เกิดการซื้อขายช่วงต่อสัญญา Credit Default Swap (CDS) ของนักเก็งกำไร โดยที่ไม่มีการซื้อตราสารหนี้นั้นๆ โดยที่หากตราสารหนี้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ(Credit Rating) ก็จะทำให้ตราสารหนี้นั้นมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น จึงทำให้ราคาซื้อขายสัญญา Credit Default Swap (CDS) สูงขึ้น และทำให้เกิดกำไรได้  ประกอบกับการซื้อขายสัญญา Credit Default Swap (CDS) เป็นการซื้อขายแบบไม่เป็นทางการ หรือแบบ OTC (Over The Counter)  จึงทำให้มีความยืดหยุ่นในการซื้อขายที่สูงกว่าการซื้อขายตราสารหนี้โดยตรง

                ดังนั้น เมื่อมีการซื้อขายเก็งกำไรของสัญญา Credit Default Swap (CDS) และเป็นที่แพร่หลายมากในยุโรปและสหรัฐฯอเมริกา ซึ่งในช่วงปี 2002-2005 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจดี จึงทำให้ผู้ที่เล่นเก็งกำไรสัญญา Credit Default Swap (CDS) มีจำนวนผู้ซื้อและผู้ขาย(ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงิน หรือกองทุน) เพิ่มขึ้นสูงในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นแทบลืมไปเสียด้วยว่าสัญญา Credit Default Swap (CDS) มีความเสี่ยงหากผู้ออกตราสารหนี้เป็นหนี้เสีย  ซึ่งในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกช่วงปี 2008 ประสบกับปัญหาหนี้เสียจำนวนมากเนื่องจากสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ อีกทั้งตราสารหนี้ภาคเอกชนต่างๆที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และเป็นหนี้เสีย จึงทำให้ผู้ขายที่เก็งกำไรกับสัญญา Credit Default Swap (CDS) ประสบผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก และเป็นอีกกลไกตัวนึง ที่สร้างผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจขณะนั้นเป็นอย่างมาก

                ผมแนะนำว่าเครื่องมือทางการเงินทุกประเภทย่อมมีประโยชน์ หากใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ของมัน ซึ่งส่วนใหญ่ตราสารอนุพันธ์(Derivative) จะเป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงของความผัวผวนราคาหลักทรัพย์ หรือเป็นสิทธิในการเข้าซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในเวลาที่เหมาะสม แต่ปัจจุบันนักเก็งกำไรกับใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการสร้างกำไรเพียงอย่างเดียว จึงก่อให้เกิดความเสี่ยงกับเขาเหล่านั้นสูงมากๆครับ

Tags : Credit Default Swap  เครื่องมือทางการเงิน  ผู้ซื้อตราสารหนี้

view