31/10/2013
View: 28,833
การเลือกหุ้นง่ายๆสำหรับมือใหม่
หลายๆคนอาจจะสนใจในการลงทุนในหุ้น และกำลังคิดว่า “การลงทุนในหุ้น นั้นดีกว่าการลงทุนด้านอื่นๆ จริงหรือไม่” ซึ่งจากประสบการณ์สมัยที่ผมลงหัดลงทุนใหม่ๆ ก็มีความคิดเช่นเดียวกันกับทุกๆท่าน “กลัวว่าเงินที่ลงทุนไป อาจจะไม่ได้กำไร และขาดทุนในที่สุด” และนั้นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายๆคนไม่กล้าที่จะเริ่มลงทุน กับอีกเหตุผลหนึ่งคือ “ไม่รู้จะลงทุนในหุ้นตัวไหนดี” เหตุผลหลังเป็นเหตุผลที่หนักมากๆ ที่ทำให้คนที่เริ่มลงทุนในหุ้นลำบากใจที่สุด และจังหวะนี้เองก็พยายามหาความรู้และความเข้าใจเพื่อเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการตลาดหุ้นบ้านเรา
สำหรับคนที่เริ่มหันมาลงทุนในหุ้น ผมแนะนำว่าให้ลงทุนในหุ้นที่มี “ผลประกอบการดี และไม่ค่อยผันผวน” หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าหุ้นพื้นฐาน และแนะนำให้ท่านเลือกลงทุนในบริษัทหุ้นที่ท่านรู้จัก และคุ้นเคยว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร และมีวิธีในการทำธุรกิจอย่างไร ซึ่งในจุดนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจถึงธุรกิจและศึกษาถึงความเสี่ยงของหุ้นนั้นๆง่ายขึ้น และที่สำคัญให้ท่านคิดว่าท่านมาลงทุน ไม่ใช้มาเก็งกำไร เพราะการเล่นหุ้นแบบลงทุนหรือเน้นคุณค่า (Value Investment) กับนักเก็งกำไร (Speculator Investment) มีความแตกต่างกันชัดเจนมากๆ ทั้งวิธีการและจุดยืน รวมไปถึงการเลือกลงทุนก็เช่นกัน “ผมไม่แนะนำให้มือใหม่เล่นแบบเก็งกำไร” เพราะการเล่นแบบนั้น ผู้เล่นต้องมีความรู้และประสบการณ์การลงทุนที่ดี และทันเหตุการณ์มากพอ และต้องมีวินัยสูง แต่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า จะคิดเสมือนว่าบริษัทที่เราลงทุนนั้นเป็นกิจการของตัวเอง และเติบโตไปด้วยกันครับ
ต่อจากนั้น นักลงทุนจะถามตัวเองว่า “แล้วจะวิเคราะห์ว่าบริษัทนั้นน่าลงทุนดีไหม” วันนี้เราจะมาแนะนำทริปสั้นๆ แต่ได้ผลมาให้ท่านดูครับ
1. คิดว่าเราเป็นเจ้าหนี้บริษัทนั้นๆ ความคิดนี้ทำให้เราใช้มุมมองว่าถ้าบริษัทนี้จะมีเงินมาจ่ายคืนเราหรือเปล่าหากเขากู้เงิน ทำให้เราเข้าไปดูสัดส่วนและการก่อหนี้ของบริษัทนี้เองอัตโนมัติครับ เช่น เข้าไปดูว่า สัดส่วน Debt(หนี้) ต่อ Equity(ส่วนเจ้าของ) เป็นเท่าไหร่ (ถ้าสูง แสดงว่ามีหนี้มากกว่าส่วนของเจ้าของ) และเข้าไปดูว่าสภาพคล่อง เช่นสินทรัพย์หมุนเวียน (current ratio) ต่อหนี้สินหมุนเวียน (current liability)เป็นอย่างไร (ถ้ามากแสดงว่ามีสินทรัพย์ เช่นเงินสด เงินฝาก ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ มากกว่าเจ้าหนี้การค้า เงินกู้ระยะสั้น และหนี้ค้างจ่ายระยะสั้นต่างๆ) นั้นเองครับ
2. คิดว่าเราทำการค้าได้ดีพอหรือยัง แนวคิดนี้ให้คิดว่าวันนี้บริษัทมีการเติบโตหรือไม่ และมีผลงานเป็นอย่างไรจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยเราจะดูยอดขาย และการทำกำไรเป็นหลัก เช่นยอดขายมีการเติบโตมากน้อยเท่าไหร่ มีอัตราส่วนการทำกำไร เช่นอัตราส่วนกำไรขั้นต้น หรืออัตราส่วนกำไรสุทธิ ที่หมายถึงกำไรที่ทำได้เป็นกี่ เปอร์เซ็นด์ ของยอดขายทั้งหมด และอีกตัวก็คือ EPS (Earning per share) กำไรต่อหุ้น ว่าการเติบโตมีทิศทางอย่างไร โดยทั่วไปยิ่งสูงขึ้นยิ่งดี เพราะหมายถึงบริษัทมีกำไรมากขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
3. คิดว่าเราเป็นผู้ที่ชอบฝากเงิน “อันนี้ทุกคนเป็นเองโดยไม่ต้องบอกครับ” โดยเทียบง่ายๆว่า ถ้าเราฝากเงินกับธนาคารให้เทียบที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ กับอัตราผลตอบแทนของเงินปันผล หรือ Dividend Yield ผมแนะนำให้เลือก ที่ Dividend yield ของหุ้นมากกว่า ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ เพราะหากราคาหุ้นไม่ได้สูงขึ้นหรืออยู่ในระดับคงตัว ท่านก็ยังได้เงินปันผลเสมือนกับดอกเบี้ยประเภทหนึ่งเช่นกัน
4. การดูเปรียบเทียบราคาหุ้นเบื้องต้น ให้ดูที่ราคา P/E (Market Price/ Earning per share)หรือพวก P/B (Market Price /Book value per share) Ratio เหล่านี้เป็นการดูว่า ราคาตลาดของหุ้นสูงมากแค่ไหนถ้าเทียบกับกำไรต่อหุ้นหรือราคาตามบัญชีที่จดทะเบียน หากมีค่าสูงขึ้นแสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นๆ มีราคาหุ้นที่น่าสนใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็มองได้ว่าหุ้นมีราคาแพงหาก P/E หรือ P/B มีค่าสูง ฉะนั้นนักลงทุนจะต้องระมัดระวังในการวิเคราะห์ Ratio ตัวนี้ด้วยครับ
จริงๆแล้วการเลือกลงทุนในหุ้นยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาสำคัญอีกหลายๆอย่าง นอกเหนือจากที่แนะนำท่านผู้อ่านในช่วงแรก การติดตามข่าวสารของบริษัทนั้นๆ เช่นการขยายสาขา มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มีการทำสัญญาอะไรบ้าง หรือแม้แต่ข่าวเกี่ยวกับผู้บริหาร ก็เป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ละทิ้งไม่ได้ เพราะราคาหุ้นมีผลกระทบต่อข่าวที่เกิดขึ้นได้ และส่วนใหญ่ก็มีผลต่อราคาหุ้นโดยตรงทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วยครับ สำหรับท่านที่ต้องการหาความรู้เพิ่มเติบเกี่ยวกับบริษัทที่จะลงทุน ผมแนะนำท่านเข้าไปอ่าน แบบรายงาน 56-1 ที่เวบไซด์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ครับ วันนี้ลากันไปก่อน ไว้พบกันใหม่กับ การคัดสรรหุ้น ที่เจาะประเด็นในเชิงลึกในงวดหน้านะครับ
By Tutor Field
Tags : ติวบัญชี บทความบัญชี บัญชีเบื้องต้น บัญชีขั้นกลาง บัญชีขั้นสูง สอนพิเศษบัญชี เรียนบัญชี เรียนบัญชี บัญชีติวเตอร์ ปริญญาตรี โท MBA เจ้าของกิจการ คนทำงาน สถาบัน ปรึกษา แนะนำ ติวบัญชีมหาวิทยาลัย คอร์สสอนบัญชี คอร์สติว single license ติว single