หลักสูตรผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ หรือ Single license (Paper1)
บทกล่าวนำ
สวัสดีครับ ผมอาจารย์ธนิตศักดิ์ บุศราไชยพัฒน์ (อาจารย์ฟิวส์) ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ความรู้พื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเรียนวิชาหลักสูตรผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า Single license (Paper1) และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงสร้างเนื้อหาหลักสูตรใหม่ที่จะปรับเปลี่ยนเป็นแบบ IC Plain และ IC Complex ต่อไป
ทั้งนี้ หลักสูตรผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า Single license (Paper1) หรืออนาคตกำลังจะเป็น IC Plain และ IC Complex จะทำให้ท่านสามารถแนะนำการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ และกองทุน ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่ทำงานหรือกำลังเตรียมตัวในการทำงานในวงการธนาคาร วงการหลักทรัพย์ วงการบริหารหลักทรัพย์จัดการลงทุน วงการประกันภัย และหน่วงงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน
เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กำหนดให้ผู้ที่ทำหน้าที่ในการแนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ หรือ Single license (Paper1) จะต้องสอบและขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน (ก.ล.ต.) ดังนั้นการสอบหลักสูตรนี้ จึงมีความจำเป็นและสำคัญยิ่งต่อเส้นทางวิชาชีพทางการเงินของท่านอย่างแน่นอน
สำหรับพื้นฐานหลักสูตรผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ หรือ Single license (Paper1) (Paper1) นั้นจะกล่าวถึงเนื้อหาเบื้องต้น เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทางการเงิน ผลิตภัณฑ์ต่างๆทางการเงิน รวมไปถึงคำศัพท์พื้นฐาน และจุดสำคัญๆเบื้องต้นในแต่ละหัวข้อของการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนทุกท่านมีความพร้อมก่อนเข้าเรียนจริง
ด้วยความปรารถนาดีจาก
อาจารย์ธนิตศักดิ์ บุศราไชยพัฒน์ (อ.ฟิวส์)
www.challengemetutor.com
คือ ตลาดที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการระดมเงินทุนและจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจต่างๆ ไปสู่หน่วยของระบบเศรษฐกิจต่างๆ และเอื้ออำนวยให้ความสะดวกในการแลกเปลี่ยนถ่ายโอนเงินทุน ให้แก่ผู้ที่ต้องการเงินทุนได้พบกับผู้ที่ต้องการลงทุน
ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆดังนี้
SSU (Surplus spending unit) หรือ “ผู้มีเงินทุน”
คือ หน่วยเงินทุนที่มีลักษณะ รายได้ มากกว่า ค่าใช้จ่าย หรือเรียกว่าสถานะงบประมาณเกินดุล
DSU (Deficit spending unit) หรือ “ผู้ต้องการเงินทุน”
คือ หน่วยเงินทุนที่มีลักษณะ รายได้ น้อยกว่า ค่าใช้จ่าย หรือเรียกว่าสถานะงบประมาณขาดดุล
ตลาดการเงิน สามารถจำแนกออกเป็น 2 ชนิดคือ
1. จำแนกตามอายุ แบ่งเป็น
- ตลาดเงิน (Money Market) เป็นตลาดที่มีการซื้อขายตราสารทางการเงิน อายุไม่เกิน 1 ปี
เช่น ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน
- ตลาดทุน (Capital Market) เป็นตลาดที่มีการซื้อขายตราสารทางการเงิน อายุมากกว่า 1 ปี
เช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล
2. จำแนกตามลักษณะตราสาร แบ่งเป็น
- ตลาดตราสารทุน (Equity) เป็นตลาดที่มีการซื้อขายตราสารที่แสดงความเป็นเจ้าของ ของผู้ออกตราสาร เช่น
- หุ้นสามัญ (Common Stock)
- คือตราสารทุนที่ให้สิทธิผู้ถือในการออกเสียงเลือกตั้ง และได้เงินปันผลตามผลประกอบการของบริษัท
- หุ้นบุริมสิทธ์ (Preferred Stock)
- คือตราสารทุนที่ผู้ถือไม่มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้ง และได้เงินปันผลเป็นจำนวนคงที่ และได้เงินปันผลก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
- ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant)
- คือตราสารทุนที่มอบสิทธิให้แก่ผู้ถือ สามารถใช้สิทธิซื้อหลักทรัพย์อ้างอิงได้ตามจำนวน ภายในระยะเวลาที่กำหนด
- ใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR)
- เป็นตราสารที่บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด เป็นผู้ออก และเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยผู้ถือตราสารจะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนๆกับการลงทุนในหุ้นนั้นๆ ยกเว้นการใช้สิทธิออกเสียง
- ตลาดตราสารหนี้ (Debt) เป็นตลาดที่มีการซื้อขายตราสารที่แสดงความเป็นเจ้าหนี้ ของผู้ออกตราสาร เช่น
- หุ้นกู้ (Corporate Bond หรือ Debenture)
- เป็นตราสารหนี้ที่ออกขายโดยภาคเอกชน
- ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill หรือ Government Bill)
- เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล อายุไม่เกิน 1 ปี
- พันธบัตรรัฐบาล (Treasury Bond หรือ Government Bond)
- เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล อายุมากกว่า 1 ปี
ลักษณะและความสำคัญของเงินทุน
- เงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้
คือสามารถเคลื่อนย้ายจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่งตามโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน
โดยเงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายไปยัง 5 ช่องทาง ดังนี้
1. ลงทุนในสินทรัพย์โดยตรง
- สินทรัพย์มีตัวตน อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ หรือการลงทุนเพื่อการค้า
2. การจัดตั้งธุรกิจร่วมกับผู้อื่น
- ร่วมทุนทำธุรกิจ
3. การให้กู้ยืม
- บุคคลทั่วไป บริษัท หรือสถาบันการเงินอื่นๆ และหน่วยงานภาครัฐฯ
4. การลงทุนในตลาดทุน
- ลงทุนในตราสารทุน เช่น หุ้นสามัญ หรือลงทุนในตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้ เป็นต้น
5. ฝากเงินกับธนาคารหรือสถาบันทางการเงิน
- เงินทุนไวต่อสิ่งแวดล้อม
คือ เงินทุนได้รับอิทธิพลต่อปัจจัยต่างๆได้ง่าย
- เงินทุนเป็นทรัพยากรขาดแคลน
คือ เงินในระบบเศรษฐกิจมีจำกัด
นโยบายทางเศรษฐกิจ
คือ นโยบายที่รัฐบาลตัดสินใจเลือกใช้ เมื่อพบว่าประเทศมีปัญหาทางระบบเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจไม่ดี(ภาวะเงินฝืด) หรือเศรษฐกิจโตไวเกินไป(เงินเฟ้อ) รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงระบบการเงินโดยใช้นโยบายทางเศรษฐกิจผ่าน 2 ทาง คือ
1. นโยบายการคลัง
เป็นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายภาครัฐบาล และนโยบายด้านการจัดเก็บภาษี
2. นโยบายการเงิน
เป็นการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายด้านดอกเบี้ย และควบคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ
ตัวอย่างเช่น หากภาวะเศรษฐกิจขาดดุล รัฐบาลจะตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยด้านการคลังจะทำการเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐ และลดอัตราภาษี ส่วนนโยบายการเงินจะทำการลดอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มปริมาณเงิน เป็นต้น
ประเภทนักลงทุน
แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆคือ
1. นักลงทุนรอรับผล หรือเชิงรับ (Passive Investors)
คือ ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ ลงทุนตามกระแสข่าว ส่วนใหญ่ให้ผู้เชี่ยวชาญจัดการลงทุนให้เน้นลงทุนในตราสารหนี้ สินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ กลัวการขาดทุนมาก
2. นักลงทุนมุ่งหวังผล หรือเชิงรุก (Active Investors)
คือ ยอมรับความเสี่ยงสูง เน้นสร้างผลกำไร มีความมั่นใจสูง ไม่กลัวขาดทุน
หากแบ่งประเภทนักลงทุนให้ละเอียดยิ่งขึ้น สามารถแบ่งได้ดังนี้ คือ
การวิเคราะห์แบบDemographics
จะแบ่งประเภทนักลงทุนเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 หรือ Accumulation Phase (ระยะสะสม) คือ ช่วงที่เริ่มทำงานหรือเริ่มสะสมทุนทรัพย์ อาจมีหนี้สินอาจมากกว่าทรัพย์ มีรายได้น้อย แต่สม่ำเสมอและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ผู้ลงทุนในช่วงอายุนี้มักจะชอบลงทุนประเภทที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่า
ช่วงที่ 2 คือ Consolidation Phase (ระยะมั่นคง) คือ ช่วงที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย จะอยู่ในช่วง Mid to Late Career คือ มีหน้าที่การงานที่มั่นคง รายได้สม่ำเสมอ หนี้สินที่มีลดลงจนใกล้ชำระเสร็จ แนวการลงทุนจะลดความเสี่ยงลงและคำนึงถึงความมั่นคงมากขึ้น
ช่วงสุดท้าย คือ Gifting Phase (ระยะอุทิศ) คือ ช่วงเกษียณอายุการทำงาน มีอิสระทางการเงิน คือ ไม่มีภาระหนี้สิน แม้ไม่มีรายได้จากการทำงานแต่ก็มีรายได้จากกองทรัพย์สินที่สะสมและลงทุนไว้ สามารถดำรงมาตรฐานชีวิตเช่นเดิมก่อนที่จะเกษียณอายุงาน
จนถึงช่วงปลายชีวิต ที่มีทรัพย์สินมากเกินกว่าจะใช้หมด จึงมีเหลือเผื่อแผ่เจือจุนให้แก่ผู้อื่นได้ซึ่งจะมอบเป็นมรดกให้แก่ทายาทในที่สุด
การวิเคราะห์แบบการกำหนดวัตถุประสงค์การลงทุน
จะแบ่งประเภทนักลงทุนเป็น 4 ประเภท คือ
การเพิ่มค่าของเงินทุน (Capital Appreciation)
ผู้ลงทุนต้องการให้หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ตนลงทุนไว้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาที่ลงทุนโดยหวังจะได้รับกำไร รับความเสี่ยงได้สูง มีการคาดหวังผลตอบแทนในอัตราที่สูงเช่นกัน
การสร้างรายได้ประจำ (Current Income)
ผู้ลงทุนลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอหรือลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งการลงทุนแบบนี้มักจะมีความเสี่ยงต่ำ และให้รายได้ประจำแก่ผู้ลงทุน
การปกป้องเงินทุน (Capital Protection)
ต้องการรักษาเงินลงทุนของตนไม่ลดหรือขาดทุนหรือเสียหายไปจากการ เช่น การลงทุนในตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงินของสถาบันการเงินเงินฝาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำพร้อมกับอัตราผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำด้วย
ผลตอบแทนรวม (Total Return)
ต้องการให้ความเสี่ยงและผลตอบแทนในการลงทุนมีความเหมาะสมกันเป็นการผสมผสานระหว่างสามวัตถุประสงค์ทั้งสามประการข้างต้น จะต้องนำมาพิจารณาให้สอดคล้องกับแนวคิดของผู้ลงทุน ในเรื่อง การยอมรับความเสี่ยงและผลตอบแทน ตลอดจนช่วงเวลาที่สอดคล้องกับแผนการลงทุนของลูกค้า
ความเสี่ยง (Risk)
คือ ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นบนความน่าจะเป็นใดๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนได้ เช่นการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูง และขณะเดียวกันก็มีโอกาสขาดทุนสูงเช่นกัน
ความเสี่ยงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆดังนี้
1. ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยมหภาค หรือ Macro Factors เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แบ่งออกเป็น
1.1 Pervasive Risk คือ ความเสี่ยงที่กระทบทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหรือไม่ก็ตาม ได้แก่
1.1.1 Purchasing Power Risk ความเสี่ยงที่เกิดจากอำนาจซื้อลดลง (ผลจากเงินเฟ้อ)
1.1.2 Political Risk ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และนโยบายเศรษฐกิจทางการเงินและการคลัง
1.1.3 Currency Risk ความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กระทบต่อผู้นำเข้าและส่งออก
1.2 Systematic Risk คือความเสี่ยงที่เป็นระบบ เกิดกับผู้ที่ทำการลงทุนเท่านั้น
1.2.1 Interest Rate risk คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะกระทบต่อผู้ลงทุนในตราสารหนี้ เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้น ขณะที่ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยเท่าเดิม จะส่งผลให้ราคาซื้อขายในตลาดรองลดลง
1.2.2 Market Risk คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของตลาดโดยรวม และส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์
2. ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยจุลภาค หรือ Micro Factor
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเฉพาะตัว และสามารถลดความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุนได้
2.1 Credit Risk ความเสี่ยงจากตัวบริษัท ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการการจ่ายหนี้ หรือการทำกำไร
2.2 Sector Risk ความเสี่ยงระดับอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจนั้นๆ