การวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ผมจะขอพูดถึงในที่นี้ หมายถึงการวิเคราะห์หุ้นหรือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยทุกวันนี้การลงทุนในหลักทรัพย์โดยเฉพาะหุ้นสามัญ ซึ่งได้รับความนิยม ตลอดจนเป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่สำคัญของนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย และขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งที่ทำให้เสียทรัพย์ได้เช่นกัน อาทิ ในกรณีการขาดทุนของนักลงทุนเก็งกำไร(Speculator) หรือแม้แต่การประเมินมูลค่าผิดพลาดของนักลงทุนเน้นคุณค่า(Value Investment) เป็นต้น
เนื่องจากมูลค่าของราคาหลักทรัพย์หรือราคาหุ้นในปัจจุบัน จะวิ่งเข้าหาสู่ราคามูลค่าที่แท้จริง(Intrinsic value)เสมอ ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดอาชีพนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “Analyst” โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เหล่านั้นจะความรู้ความสามารถในวิชาทางการเงิน ตลอดจนการตั้งสมมติฐานต่างๆ รวมไปถึงสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อหามูลค่าที่แท้จริง หรือราคาหุ้นที่ควรจะเป็น หรือที่รู้จักกันดีในคำว่า “Target Price” นั้นเองครับ
สำหรับวิธีการวิเคราะห์หุ้นนั้น โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆคือ
1. การวิเคราะห์ทางเทคนิค(Technical)
คือการวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อหาจุดที่ควรจะซื้อ หรือจุดที่ควรจะขายหุ้น โดยมีสมมติฐานดังนี้
- ราคาตลาดของหลักทรัพย์ได้สะท้อนให้ทราบถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งอุปสงค์และอุปทานของตลาด
- เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาจจะกลับมาเกิดใหม่ได้
- การเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์มีลักษณะเป็นแนวโน้ม และมีความต่อเนื่อง
- Up trend แนวโน้มขาขึ้น
- Down trend แนวโน้มขาลง
- Side Way เป็นแนวโน้มทรงตัว ไม่แสดงแนวโน้มใดๆชัดเจน
ซึ่งการวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค หรือ Technical เป็นการวิเคราะห์แนวโน้ม รวมไปถึงการใช้เครื่องมือตัวชี้วัด (Indicator) ต่างๆ เช่น MACD ,RSI และ Moving Average เพื่อวิเคราะห์หาจุดหรือระดับที่ควรจะซื้อหรือขายหุ้นนั้นๆ โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนที่ชอบเก็งกำไรระยะสั้นจะนิยมใช้วิธีนี้ เพราะเป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องการเหตุผลที่ซับซ้อน และประหยัดเวลากว่าวิธีปัจจัยพื้นฐานมาก
2. การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน(Fundamental)
คือการวิเคราะห์ถึงมูลค่าที่แท้จริงโดยการวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ตั้งแต่ปัจจัยภายนอก จนถึงปัจจัยภายใน เพื่อวิเคราะห์ถึงผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและประเมินเป็นมูลค่าหุ้นที่ควรจะเป็น โดยแบ่งการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้ดังนี้
การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก
- การวิเคราะห์เศรษฐกิจและตัวแปรมหาภาค คือการวิเคราะห์ถึงสภาวะเศรษฐกิจของโลก และของประเทศเรา รวมไปถึงนโยบายทางการเงิน และนโยบายทางการคลัง
- การวิเคราะห์ภาคอุตสาหกรรม เป็นการวิเคราะห์ถึงสภาวะการแข่งขัน และสภาพตลาดของธุรกิจนั้นๆ ว่า มีการแข่งขันที่รุนแรงอย่างไร ธุรกิจนั้นอยู่ในช่วงวงจรธุรกิจไหน (ขั้นบุกเบิก > เจริญเติบโต > อิ่มตัว > หดตัว > ถดถอย) เป็นต้น
การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน
เป็นการวิเคราะห์ถึงตัวบริษัทนั้นๆโดยตรง ดังนี้
- การวิเคราะห์เชิงปริมาณ คือการวิเคราะห์ถึงตัวเลขทางบัญชีของบริษัท เช่นกำไร ยอดขาย อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร หรืออัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เป็นต้น
- การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ คือการวิเคราะห์ถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัท บริษัทเป็นผู้นำตลาดหรือผู้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับต้นๆหรือไม่ บริษัทมีคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบธุรกิจอย่างไร หรือแม้แต่แผนการตลาดที่จะดำเนินงานในอนาคต เป็นต้น
ดังนั้น การวิเคราะห์ราคาหลักทรัพย์หรือราคาหุ้น โดยทั่วไปจะมีหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นพื้นฐาน ซึ่งในความจริงแล้ว การวิเคราะห์ราคาหลักทรัพย์นั้น จะต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ในการวิเคราะห์ รวมไปถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่การสร้างแบบจำลอง(Model) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ราคาก็เป็นได้ ทั้งนี้ตามแต่ทักษะและความชำนาญของแต่ละบุคคลครับ (แต่ให้ระวังการสร้างราคาของผู้ที่มีส่วนได้เสียด้วยนะครับ เพราะปัจจุบันข่าวสารมีการบิดเบือนอยู่มากมาย ^^) โชคดีทุกคนครับ
Challenge Me Tutor