สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

หุ้น IPO น่าลงทุนหรือน่ากลัว?

หุ้น IPO น่าลงทุนหรือน่ากลัว?

                สวัสดีครับทุกคน วันนี้ผมจะมาพูดถึงหุ้น IPO ว่า คืออะไร และทำไมจึงเป็นที่นิยมของนักลงทุนกัน

หุ้นเพิ่มทุน “IPO” หรือ Initial Public offering คือ การขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน พร้อมกับบริษัทนั้นๆทำการจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก ทั้งตลาด SET และ MAI ครับ

                ซึ่งสำหรับเหตุผลที่บริษัทจำกัด สนใจที่จะแปลงตัวเองเป็นบริษัทจำกัด(มหาชน) และทำการจดทะเบียนซื้อขายหุ้นของบริษัทตนเองในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และ MAI ส่วนใหญ่มีเหตุผลหลักๆ 2 ข้อ คือ 1.ต้องการเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ 2.เพื่อต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจปกติแต่มิได้เพื่อขยายธุรกิจ    *ทั้งนี้บางบริษัทอาจจะมีการขายหุ้น IPO เพื่อทำการชำระหนี้เดิม ก่อนที่จะนำเงินไปขยายธุรกิจ หรือนำเงินที่เหลือเป็นเงินทุนหมุนเวียนก็เป็นได้ครับ  ซึ่งนักลงทุนควรจะศึกษาจากแบบแสดงรายการคำขอ Filing ที่บริษัทยื่นต่อ ก.ล.ต. ได้ครับ (ถือเป็นหนังสือชี้ชวนที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนซื้อขายหุ้นของตนเองในตลาดหลักทรัพย์ SET และ MAI)

ทั้งนี้เกณฑ์ในการจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น ของ SET และ MAI โดยสังเขป (บางส่วนที่สำคัญ) มีดังนี้

หลักเกณฑ์

SET

MAI

อายุการดำเนินธุรกิจ

ไม่ต่ำกว่า 3 ปี

ไม่ต่ำกว่า 2 ปี

ทุนจดทะเบียน

มากกว่า 300 ล้านบาท

มากกว่า 20 ล้านบาท

จำนวนรายย่อยที่เสนอขาย

มากกว่า 1,000 ราย

มากกว่า 300 ราย

สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย

มากกว่า 25%

มากกว่า 20%

กำไรสุทธิ

-กำไรสุทธิ 2 ปีล่าสุด

รวมกันไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

- และปีล่าสุดกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน

-กำไรสะสมเป็นบวก

-หากกำไรสะสมติดลบ

จะต้องมีมูลค่าทุนจดทะเบียนมากกว่า 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้หลักเกณฑ์อื่นๆ เช่นโครงสร้างของบริษัทที่ปราศจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือโครงสร้างเรื่องระบบบัญชี การควบคุมภายใน คณะกรรมการ และการเปิดเผยข้อมูล ยึดหลักเกณฑ์เดียวกันครับ

 

                จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้ว เงื่อนไขในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ SET หรือ MAI นั้น จะมีเรื่องของขนาดทางธุรกิจ และผลกำไรมาเกี่ยวข้องเป็นหลักเท่านั้น ส่วนหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ยึดหลักเดียวกันครับ

                ต่อมา ผมจะขอยกตัวอย่างขั้นตอนในการเสนอขายหุ้น IPO แบบคร่าวๆ เข้าใจง่ายๆ ฉบับบ้านๆให้ฟังดังนี้ครับ

-    เมื่อบริษัทจำกัด ที่ทำธุรกิจของตน มีความต้องการเงินทุน หรือต้องการขยายธุรกิจ หรือต้องการความสากล ซึ่งบริษัทจำกัดนั้นๆ พิจารณาแล้วว่า บริษัทตนเองมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปได้ และต้องการแหล่งเงินทุนที่ปราศจากดอกเบี้ยระยะยาง จึงตัดสินใจแปลงสภาพเป็นบริษัทจำกัดมหาชนและเตรียมพร้อมเข้าสู่การจดทะเบียนในตลาดหุ้น

-    จากนั้นบริษัทจะทำการติดต่อกับวาณิชธนกิจหรือที่ปรึกษาทางการเงิน โดยที่ปรึกษาทางการเงินจะให้คำแนะนำ รวมไปถึงการปรับปรุงโครงสร้างบริษัทให้ไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในรูปแบบการถ่ายโอนผลประโยชน์ที่อาจจะทำให้นักลงทุนรายย่อยโดนเข้าเปรียบได้ ตลอดจนระบบโครงสร้างบริษัทด้านระบบบัญชี การควบคุมภายใน ระบบคณะกรรมการบริษัท ให้ถูกต้องและเป็นไปตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด และวาณิชธนกิจจะจัดทำแบบยื่นคำขอ Filing เพื่อขออนุญาตสำนักงาน ก.ล.ต.  ซึ่งขั้นตอนนี้จัดได้ว่ากินเวลานานที่สุด บางบริษัทอาจใช้เวลา 2-3 ปี หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัทเป็นหลักครับ

(ทั้งนี้ วาณิชธนกิจหรือที่ปรึกษาทางการเงิน รวมไปถึงบริษัทที่วาณิชธนกิจสังกัดอยู่ ต้องไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทมหาชนที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงินนั้นๆเด็ดขาด)

-    เมื่อบริษัทพร้อมและแปลงสภาพบริษัท จากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทจำกัดมหาชน และทางวาณิชธนกิจหรือที่ปรึกษาทางการเงินจะทำการยื่นแบบคำขอ Filing แก่สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งขั้นตอนนี้ ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จะให้ทางวาณิชธนกิจและบริษัทเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ (ส่วนใหญ่พวกเรา ชาวนักลงทุนจะทราบข่าวในขั้นตอนนี้)

-    จากนั้นทางสำนักงาน ก.ล.ต. จะทำการตรวจสอบ บริษัทมหาชนที่ยื่นแบบคำขอดังกล่าว ทั้งตรวจสอบโครงสร้างบริษัท ความเสี่ยงของบริษัท การควบคุมภายใน และผลประโยชน์อื่นๆ ที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือคนเก่าสามารถเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย รวมไปถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจที่จะดำเนินการต่อไปได้อย่างปกติสุข(Going Concern)  ซึ่งขั้นตอนนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนของนักลงทุนในการพิจารณาว่า บริษัทมหาชนดังกล่าว มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะจดทะเบียนเข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ SET หรือ MAI ได้หรือไม่

-    หากทางสำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นชอบอนุญาต จะอนุญาตให้บริษัททำการดำเนินการจัดจำหน่ายหุ้นIPO (Underwriting) ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้นักลงทุนจะสามารถจองผ่านตัวแทนสนับสนุนการขายได้ต่อไป

ทั้งนี้ ผมสังเกตนักลงทุนชอบถามว่า คำว่า IPO มันคือหุ้นจำนวนเท่าไหร่ หรือก้อนไหนกันแน่? แล้วทำไมในบางครั้งราคาหุ้น IPO มันถึงวิ่งขึ้นไปได้มาก เป็นต้น  ผมจึงขอยกตัวอย่างการจดทะเบียนและจำนวนตัวเลขคร่าวๆ ง่ายๆดังนี้

บริษัท A

มูลค่าก่อนเข้าตลาดหุ้น

มูลค่าหลังเข้าตลาดหุ้น

กลุ่มตระกูล ก

1,000 ล้านบาท

1,000 ล้านบาท

นาย เอก

300 ล้านบาท

300 ล้านบาท

กลุ่มตระกูล ข

200 ล้านบาท

200 ล้านบาท

หุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชน(IPO)

(จำนวน 500 ล้านบาท)

IPO หุ้นละ 2.5 บาท

จำนวน 200 ล้านหุ้น

 

500 ล้านบาท

รวม

1,500 ล้านบาท

2,000 ล้านบาท

  • หมายเหตุ ราคาพาร์ หรือมูลค่าทุนจดทะเบียนหุ้นละ 1 บาท

ทั้งนี้สำหรับวิธีการคิดราคา IPO มักนิยมให้วิธี P/E โดยหาได้จากสูตร

P = ราคาหุ้นที่เหมาะสม

P/E = ราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ

EPS = กำไรสุทธิต่อหุ้น

P  = P/E x EPS

ยกตัวอย่างเช่น ค่า P/E เฉลี่ยอุตสาหกรรม ของบริษัทนี้อยู่ที่ 10 เท่า

และกำไรต่อหุ้นที่คาดการณ์ในปีหน้า(EPS) คือ 0.25 บาท

ดังนั้น ราคาหุ้น IPO จึงเท่ากับ 10 x 0.25 = 2.5 บาทต่อหุ้น

 

                มาถึงตอนนี้ มักมีคำถามออกมาดังก้องเป็นนกกระจอกเข้ารังเลยว่า ราคาหุ้น IPO ที่ขายนั้นแพงไปหรือถูกไป? ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่า จะแพงหรือถูกไปนั้น ให้เปรียบกับไปว่า ราคาที่ขายนั้น อยู่บนค่า P/E ที่กี่เท่า และถ้าเปรียบกับอุตสาหกรรมตนเอง และคู่แข่งรายสำคัญนั้น มีค่า P/E ที่แตกต่างกันมากเท่าไหร่ หากสูงกว่ามาก นั้นคือ”แพง”  หากต่ำกว่ามาก นั้นคือ”ถูก” ทั้งนี้ต้องพิจารณาโอกาสเติบโตทางธุรกิจต่อไปได้ด้วยครับ

                หลังจากพิจารณาถึงค่า P/E ที่ได้ไปแล้ว เราควรดูที่วิธีการจดทะเบียนบริษัทด้วยครับ ว่าใช้เกณฑ์กำไร หรือเกณฑ์มูลค่าทุนจดทะเบียน ซึ่งในตลาด MAI มีเงื่อนไขที่อนุญาตให้บริษัทที่มีกำไรสะสมเป็นลบเข้าจดทะเบียนได้ หากมูลค่าทุนจดทะเบียนมากกว่า 1,000 ล้านบาท (ซึ่งอันนี้ค่อนข้างน่ากลัวมาก และมักจะทำให้เมื่อวัน First Day Trade หรือวันที่มีการซื้อขายวันแรก มักจะเปิดที่ราคาต่ำกว่าราคาขาย IPO)

                ปกติ Ceiling กับ Floor ของหุ้นปกติจะอยู่ที่ +,- 30% ของราคาก่อนหน้านั้น แต่สำหรับหุ้น IPO ในวัน First Day Trade หรือวันที่มีการซื้อขายวันแรก จะมี Ceiling + 200% และ Floor ที่ราคา 0.01 บาท ของราคา IPO ซึ่งกรอบ Ceiling กับ Floor ที่กว้างนี้ ทำให้หุ้น IPO มีความเสี่ยงจากการลงทุนสูงนั้นเองครับ

                ความน่ากลัวอย่างหนึ่งของหุ้น IPO นั้นคือ จากตัวอย่างบริษัท A มีจำนวนเก่าคือ 1,500 ล้านบาท และจำนวนใหม่(IPO)คือ 500 ล้านบาท ถึงแม้ว่าทางสำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้มีระยะ Silent period หรือช่วงระยะห้ามผู้ถือหุ้นรายเก่าขายหุ้นของตนในระยะ 1 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มักอนุญาตให้ขายหุ้นที่ 25% ได้หลังผ่านช่วง silent period ใน 6 เดือนแรก แต่ด้วยความที่หุ้น IPO มักเป็นความต้องการของตลาดโดยรวม จึงง่ายแก่การปั่น ประกอบกับช่วงกรอบ Ceiling กับ Floor ที่กว้าง จึงต้องของให้นักลงทุนพิจารณาข้อมูลข่าวสารให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน

                สุดท้ายผมขอฝากแง่คิดในการลงทุนหุ้น IPO สั้นๆ คือ อยากให้คิดว่าเราทำธุรกิจและมองการเติบโตของบริษัทไปพร้อมๆกัน ซึ่งแนะนำให้ศึกษาจากแบบคำขอ Filing ของหุ้นบริษํทนั้นๆ และไม่แนะนำให้เล่นแบบฉาบฉวย เพราะหากคุณเข้ามาซื้อในวันแรกของการขายหุ้น IPO (First day trade) เพราะราคาหุ้นอาจจะเปิดบวกมาอีกสัก 20-30% ของราคา IPO ซึ่งจุดๆนี้ หากจะตัดสินใจซื้อต้องพิจารณาให้สูงๆนะครับ

ขอให้โชคดีครับ

อาจารย์ฟิวส์

Challenge Me Tutor

Tags : หุ้น  IPO  การลงทุน Ceiling  Floor  First day trade  P/E  กำไร  ตลาดหุ้น

view