สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ลักษณะการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงอายุในแต่ละวัย

ลักษณะการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงอายุในแต่ละวัย

ปัจจุบันเริ่มมีนักลงทุนรายใหม่ๆเข้ามาในวงการตลาดทุนของบ้านเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆปี อันเนื่องมาจากโลกยุคดิจิตอลที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงทุกสื่อและมีอุปกรณ์การสื่อสารมากมายที่อำนวยความสะดวกในการรับรู้ข้อมูลเหล่านั้น อีกทั้งการลงทุนยังเป็นค่านิยมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเริ่มที่จะมีนักลงทุนอายุน้อยเพิ่มขึ้นมายังต่อเนื่อง

                ดังนั้น หากพิจารณาถึงช่วงอายุและความเหมาะสมของหลักทรัพย์ที่ลงทุน จะสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • ช่วงที่ 1 หรือ Accumulation Phase (ระยะสะสม) คือ ช่วงที่เริ่มทำงานหรือเริ่มสะสมทุนทรัพย์ อาจมีหนี้สินอาจมากกว่าทรัพย์ มีรายได้น้อย แต่สม่ำเสมอและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ผู้ลงทุนในช่วงอายุนี้มักจะชอบลงทุนประเภทที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่า

ดังนั้น การลงที่เหมาะสมควรจะเป็นตราสารทุน หรือหุ้น เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากขาดทุนแล้ว ก็ยังเป็นวัยที่สามารถทำงานหาเงินมาชดเชยในส่วนที่เสียไปได้

  • ช่วงที่ 2 คือ Consolidation Phase (ระยะมั่นคง) คือ ช่วงที่มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย จะอยู่ในช่วง Mid to Late Career คือ มีหน้าที่การงานที่มั่นคง รายได้สม่ำเสมอ หนี้สินที่มีลดลงจนใกล้ชำระเสร็จ แนวการลงทุนจะลดความเสี่ยงลงและคำนึงถึงความมั่นคงมากขึ้น

ดังนั้น การลงทุนที่เหมาะสมควรจะเป็นแบบผสมระหว่างตราสารทุนและตราสารหนี้ ในสัดส่วนเท่าๆกัน ทั้งนี้เป็นวัยที่นึกถึงความมั่นคงในระยะยาว แต่ยังสามารถรับความเสี่ยงและผลขาดทุนได้

  • ช่วงที่ 3 คือ Spending Phase (ระยะใช้จ่าย) คือ ช่วงเกษียณอายุการทำงาน มีอิสระทางการเงิน คือ ไม่มีภาระหนี้สิน แม้ไม่มีรายได้จากการทำงานแต่ก็มีรายได้จากกองทรัพย์สินที่สะสมและลงทุนไว้ สามารถดำรงมาตรฐานชีวิตเช่นเดิมก่อนที่จะเกษียณอายุงาน

ดังนั้น การลงทุนที่เหมาะสมควรจะเป็นแบบปกป้องเงินทุน หรือพูดง่ายๆ ห้ามเสียเงินต้นของตนเองไป ซึ่งวัยนี้เหมาะที่จะลงทุนในตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

  • ช่วงสุดท้าย คือ Gifting Phase (ระยะอุทิศ) คือ ช่วงปลายชีวิต มีทรัพย์สินมากเกินกว่าจะใช้หมด จึงมีเหลือเผื่อแผ่เจือจุนให้แก่ผู้อื่นได้ซึ่งจะส่งผ่านไปให้แก่ทายาทในที่สุด

ดังนั้น การลงทุนที่เหมาะสมจะเหมือนกัน ช่วงที่ 3 หรือระยะใช้จ่ายนั้นเอง

ทั้งนี้ คำแนะนำของการลงทุนตามความเหมาะสมของอายุ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในตลาดแห่งการลงทุนจริงๆ นั้น ยังมีลักษณะนิสัยของนักลงทุนแต่ละคนเป็นปัจจัยทำสำคัญต่อการลงทุน เช่น บางคนรับความเสี่ยงได้มาก ก็จะเป็นนักลงทุนเน้นเก็งกำไรจากส่วนต่าง หรือต้องการขายหุ้นได้กำไร ทั้งๆที่อายุมาก  หรือบางคนรับความเสี่ยงไม่ได้ จึงชอบลงทุนในพันธบัตรภาครัฐ ทั้งๆที่อายุน้อย เป็นต้น

 

Tags : single license  ผู้แนะนำการลงทุน  กำหนดวันสอบ  ATI  TSI  AIME  ตลาดหลักทรัพย์

view